ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยาน

ความสําคัญ

ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานเป็นประเด็นสำคัญที่ ทอท. มุ่งมั่นดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ บุคลากร และพันธมิตรในการดำเนินงานที่ดำเนินงานภายในท่าอากาศยาน ตลอดจนชุมชนและสังคมโดยรอบ ทั้งในด้านความปลอดภัยจากการให้บริการของท่าอากาศยานและความมั่นคงจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือเสี่ยงต่อการเกิดภัยอันตราย ซึ่งถือเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสิทธิในการมีชีวิตและความปลอดภัย การมีมาตรการความปลอดภัยที่ดีทำให้ลูกค้า บุคลากร และพันธมิตรในการดำเนินงานรู้สึกมั่นใจในการใช้บริการ ส่งผลให้ ทอท. ได้รับความเชื่อมั่น และไว้วางใจในการใช้บริการขนส่งทางอากาศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด ส่งผลให้ ทอท. ต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และพัฒนาศักยภาพของพนักงานเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างเต็มศักยภาพ และมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนระบบการจัดการเพื่อให้เข้ากับมาตรการที่เข้มงวดขึ้น

นโยบาย

ทอท. มุ่งมั่นเสริมสร้างคุณภาพการให้บริการ เพิ่มความเข้มแข็ง และลดข้อบกพร่องในการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยาน ผ่านการตรวจสอบและทดสอบด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลภายใน และการตรวจประเมินจาก International Civil Aviation Organization: ICAO ในโครงการ Universal Security Audit Programme - Continuous Monitoring Approach (USAP-CMA) ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัย ทอท. จึงดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายความปลอดภัย (AOT Safety Policy) ครอบคลุมมาตรการเชิงรุกและกิจกรรมต่างๆ เพื่อการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน (Airport Security Measure) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎหมายและข้อแนะนำที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล

ระดับประเทศ ระดับสากล
  • ประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง นโยบายนิรภัยในการบินพลเรือนของประเทศ พ.ศ. 2565-2580
  • ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ.2567 - 2569
  • ICAO Runway Safety Programme – Global Runway Safety Action Plan, 2017
  • ICAO Global Action Plan for The Prevention of Runway Incursion Volume I – Recommendations, 2023

นโยบายความปลอดภัยของ ทอท.

ทอท. ได้กำหนดนโยบายความปลอดภัยเพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งให้การดำเนินงานด้านการบินบรรลุประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยตามยุทธศาสตร์และค่านิยมองค์กร และเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ตลอดจนปรับปรุงระบบบริหารคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้นโยบายความปลอดภัยของ ทอท.ประกอบด้วย 11 ประการสำคัญ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังนี้

    1. ดำเนินการด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยานของทอท.ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดบนพื้นฐานของระเบียบ ทอท. การปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance-oriented) รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ภายใต้ยุทธศาสตร์ของ ทอท.
    2. การจัดสรรทรัพยากรด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อให้การบริหารจัดการความปลอดภัยตามระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety Management System: SMS) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
    3. ส่งเสริมและผลักดันให้เกิด Just Culture และวัฒนธรรมความปลอดภัยเชิงบวก (Positive safety culture) อย่างยั่งยืนใน ทอท.
    4. สนับสนุนระบบการรายงานเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุเชิงลึกของเหตุการณ์และสนับสนุนความโปร่งใส โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (SMS) รวมทั้งวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยดังกล่าว โดยไม่มีการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยเจตนา การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้
    5. ส่งเสริมให้มีกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลภายใต้การเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นสู่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data-driven Decision Making) ทำให้เกิดการพัฒนาการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    6. จัดให้มีมาตรการ กระบวนการหรือกลไกในการพิทักษ์ข้อมูลด้านความปลอดภัยและสารสนเทศด้านความปลอดภัย รวมถึงแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (SMS)
    7. จัดให้มีระบบตรวจสอบและวัดสมรรถนะความปลอดภัย (Safety Performance) ของท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ท่าอากาศยานเป็นผู้กำหนดตัวชี้วัดสมรรถนะความปลอดภัย (Safety Performance Indicator: SPI) รวมทั้งค่าเป้าหมาย (Target) และระดับการแจ้งเตือน (Alert Level)
    8. ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ด้านความปลอดภัย การปฏิบัติการท่าอากาศยาน รวมทั้งการบริหารจัดการความปลอดภัยของ ทอท.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
    9. ส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติการท่าอากาศยานด้านความปลอดภัยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาร่วมขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    10. ควบคุมกำกับดูแล และรับผิดชอบในการบริหารจัดการความปลอดภัยตามระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (SMS) อย่างเคร่งครัด โดยผู้บริหารทุกระดับชั้น อีกทั้ง พนักงานและลูกจ้าง ทอท. ทุกคนต้องตระหนักและให้ความร่วมมือเรื่องความปลอดภัยจนกลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร
    11. ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมประสานและบูรณาการระบบความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ระบบความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ระบบการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งระบบการจัดการด้านนิรภัยของหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการจัดการ

การกำหนดเป้าหมายด้านความปลอดภัยของท่าอากาศยาน
เป้าหมายด้านความปลอดภัยของท่าอากาศยาน ทอท.
ทอท. กำหนดเป้าหมายสำคัญ คือ การมีอุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Zero Accident) สำหรับผู้ใช้บริการและทุกภาคส่วนครอบคลุม ทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ในปีงบประมาณ 2566 - 2570 โดยดำเนินการผ่านหลายมิติ ทั้งด้านนโยบาย โครงสร้างการกำกับดูแล แนวทางการดำเนินงาน และการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในแผนวิสาหกิจของ ทอท. ปีงบประมาณ 2566 - 2570 ฉบับทบทวน (ประจำปีงบประมาณ 2567) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยาน โดยกลยุทธ์ที่ 1.2 พัฒนาการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรลุเป้าหมายอุบัติเหตุบนทางวิ่งเป็นศูนย์

การบูรณาการด้านความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก
ทอท. ร่วมกับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำวัตถุประสงค์เฉพาะของรัฐ (Specific Operation Objectives: OPR) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสนามบิน มาใช้ในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย เพื่อขับเคลื่อนแผนนิรภัยและแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (Thailand Aviation Safety Action Plan: TASAP) โดย ทอท. ได้นำวัตถุประสงค์เฉพาะของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสนามบิน จำนวน 4 วัตถุประสงค์จาก 6 วัตถุประสงค์ มาตั้งเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะด้านความปลอดภัยของ ทอท. ได้แก่

    1. การลดอัตราการเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ Controlled flight into terrain (CFIT) จากการดำเนินงานของสนามบิน ทอท.
    2. การลดอัตราการเกิดและความรุนแรงของเหตุการณ์อากาศยานออกนอกทางวิ่ง (Runway Excursion: RE) จากการดำเนินงานของสนามบิน ทอท.
    3. การลดอัตราการเกิดและความรุนแรงของเหตุการณ์การรุกล้ำทางวิ่ง (Runway Incursion: RI) จากการดำเนินงานของสนามบิน ทอท.
    4. การลดอัตราการเกิดอากาศยานชนนก (Bird Strike) ในสนามบินของ ทอท. ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยานจากการดำเนินงานความปลอดภัยของสนามบิน

นอกจากนี้ ทอท. ได้มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของ ทอท. (AOT Aviation Safety Plan Committee) โดยให้มีอำนาจในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของ ทอท. เพื่อรองรับ TASAP และกำหนดแนวทางในการจัดทำ Runway Safety Programme ของ ทอท. อีกด้วย

โครงสร้างการกำกับดูแลและบริหารความปลอดภัยท่าอากาศยาน

คณะกรรมการบริหารความปลอดภัยของสนามบิน (AOT Safety Management Committee)

แต่งตั้งโดย คณะกรรมการ ทอท. มีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นประธาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดด้านความปลอดภัยตามระบบการจัดการด้านนิรภัยขององค์กร (Safety Management System: SMS) ผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานและความปลอดภัยท่าอากาศยานเป็นผู้จัดการด้านความปลอดภัยในระดับองค์กร (AOT Safety Manager) และเป็นเลขานุการ อำนาจหน้าที่ :

  • กำหนดนโยบายความปลอดภัยตาม SMS กำหนดแผนงาน วิธีปฏิบัติ รวมทั้งระดับความปลอดภัยที่ยอมรับได้ (Acceptable Level of Safety Performance: ALoSPs) สอดคล้องกับแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ รวมทั้งควบคุม กำกับดูแลและประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย แผนงาน และระดับความปลอดภัยที่ยอมรับได้ของ ทอท. ที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เป็นไปตามระเบียบ ทอท. กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่รัฐกำหนด และมาตรฐานสากล
  • ให้ข้อเสนอแนะและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่กระทบต่อความปลอดภัยในการดำเนินงานของสนามบิน
  • ติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขข้อบกพร่องของสนามบินเพื่อให้ได้รับและรักษาใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Public Aerodrome Operating Certificate)
  • จัดประชุมเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน หรือตามที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่เห็นสมควร
  • สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบินอย่างต่อเนื่อง
  • รายงานผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของ ทอท. ที่มีนัยสำคัญหรือกระทบต่อการดำเนินงานด้านความปลอดภัยสนามบินของ ทอท.ให้คณะกรรมการ ทอท. ทราบ
  • แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานได้ตามความเหมาะสม

คณะกรรมการความปลอดภัยของสนามบิน (Aerodrome Safety Review Board) ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้อำนวยการท่าอากาศยาน หัวหน้าหน่วยงานมาตรฐานท่าอากาศยานและอาชีวอนามัยเป็นผู้จัดการด้านความปลอดภัยของสนามบิน (Aerodrome Safety Manager) และเป็นเลขานุการประจำท่าอากาศยานที่ตนสังกัด อำนาจหน้าที่ :

  • จัดทำนโยบาย แผนงาน และโครงการความปลอดภัยของสนามบินเพื่อรองรับนโยบายความปลอดภัยของ ทอท.
  •   ดำเนินกิจกรรมด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินกิจกรรมอื่นเพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยต่อกิจกรรมของสนามบินตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยของสนามบิน 
  • แก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยของสนามบินกรณีที่เป็นเรื่องนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัย ให้เสนอคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยสนามบินของ ทอท. พิจารณา 
  • จัดประชุมเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน  
  • ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติ โดยการสำรวจความปลอดภัยด้านการบินเป็นปนะจำทุกเดือน และนำผลการสำรวจเข้าที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยสนามบินและคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยของสนามบินของ ทอท. ตามลำดับ 
  • แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานได้ตามความเหมาะสม

คณะทำงานแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของ ทอท. (AOT Aviation Safety Plan Committee)
อำนาจหน้าที่:

  • จัดทำแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของ ทอท. เพื่อรองรับแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (Thailand Aviation Safety Action Plan: TASAP) บนพื้นฐานของระเบียบ ทอท. การปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance-oriented) รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐาน ICAO และปรับปรุงและทบทวน Runway Safety Programme ของ ทอท. ให้สอดคล้องกับภาครัฐ รวมทั้งจัดให้สนามบินมี Runway Safety Programme ที่สอดคล้องกับ Runway Safety Programme ของ ทอท.
  • สนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานความปลอดภัยทางวิ่งของสนามบิน (Local Runway Safety Team: LRST) รวมทั้งให้เกิดความเชื่อมโยงกับระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน
  • เสนอแนะแนวทางและให้แนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) กับคณะทำงานความปลอดภัยทางวิ่งสนามบิน (Local Runway Safety Team: LRST) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางวิ่ง
  • สนับสนุนให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านความปลอดภัยทางวิ่ง (Safety Awareness Campaign) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ภายใน ทอท. เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยทางวิ่ง
  • ส่งเสริมให้มีการบันทึก จัดเก็บ และรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในระบบฐานข้อมูล และกำหนดแนวทางในการเพิ่มสมรรถนะด้านความปลอดภัย (Safety Performance) ในภาพรวมของสนามบินของ ทอท. จากข้อมูล (Data) และสารสนเทศ (Information) ด้านความปลอดภัย
  • กำหนดแนวทางและส่งเสริมให้นำข้อมูลด้านความปลอดภัยจากระบบฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยของ ทอท. มาประเมิน วิเคราะห์ ติดตาม Precursor events และเหตุปัจจัย (Contributing factors) ที่ไม่เป็นไปตาม Safety Performance Targets (SPTs) ที่ระบุในแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของ ทอท.
  • ติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของ ทอท. และรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยสนามบินของ ทอท. ในคราวการประชุมคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยของสนามบิน ทอท. เป็นระยะ หรือตามความเหมาะสม
  • ฝ่ายมาตรฐานและความปลอดภัยท่าอากาศยาน ทำหน้าที่เป็นผู้ทำงานและเลขานุการของคณะทำงานฯ ในการจัดให้มีการประชุมตามแผนการดำเนินงาน รวมทั้ง ติดตามการดำเนินงานตาม Runway Safety Programme ของแต่ละท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. และรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยสนามบินของ ทอท. เป็นระยะ

สำหรับแผนวิสาหกิจของ ทอท. ปีงบประมาณ 2566 - 2570 ฉบับทบทวน (ประจำปีงบประมาณ 2567) ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดในยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยาน ในกลยุทธ์ที่ 1.2 พัฒนาการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ กำหนดให้ระหว่างปี 2566 - 2570 มีเป้าหมายการเกิดอุบัติเหตุบนทางวิ่งเท่ากับศูนย์ (Zero Accident)

ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย

ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยาน
แนวทางการดำเนินงานหลักของ ทอท. พิจารณาประยุกต์ใช้อย่างครอบคลุมทั้ง 6 ท่าอากาศยาน โดยมุ่งเน้นการวางระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของสนามบิน (Safety and Security Management) ที่เข้มแข็งตามมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศรวมถึงการจัดสรรทรัพยากรด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ ที่เพียงพอต่อการดำเนินงานอย่างปลอดภัยที่สามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่ผู้คนผ่านการให้บริการท่าอากาศยาน โดยระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของสนามบินประกอบไปด้วย:

  • กำหนดแนวทางการจัดการ (Safety Management System: SMS) และประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Safety Risk Management: SRM)
  • กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่มีความรัดกุมและมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด (Safety and Security Measures)
  • การทบทวนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย (Management Review)
  • กำหนดให้มีการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Program: USAP)
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมและความรู้ความสามารถความปลอดภัยของพนักงาน ทอท. (Safety and Security Culture)

ระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety Management System - SMS)
ทอท. ดําเนินการตามกฎหมายของรัฐ ภายใต้การกํากับดูแลของสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีการจัดทําระเบียบ ทอท. ว่าด้วยระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety Management System: SMS) เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของรัฐและแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (State Safety Programme: SSP) และเพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัย โดยมี 4 องค์ประกอบ ดังนี้ นโยบายและวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย (Safety Policy and Safety Objective) การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Safety Risk Management: SRM) การประกันด้านความปลอดภัย (Safety Assurance) และการส่งเสริมด้านความปลอดภัย (Safety Promotion)

ทอท. ในฐานะเป็นผู้บริหารสนามบิน มีการดําเนินการด้านความปลอดภัยไม่จํากัดเฉพาะภายใน ทอท. แต่ต้องทําให้มั่นใจว่าการให้บริการของสนามบินมีมาตรฐานความปลอดภัย โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียภายในท่าอากาศยาน ทั้งจากลูกค้า สายการบิน ผู้ให้บริการภาคพื้น หน่วยงานสนับสนุนด้านการบิน และหน่วยงานภาครัฐเพื่อตอบสนองต่อการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (SRM) การระบุและประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและมาตรการการรักษาความปลอดภัย (Safety and Security Risk Identification and Assessment) สามารถช่วยให้ ทอท. สามารถจัดการความเสี่ยงต่างๆ ด้วยแผนรองรับเหตุการณ์หรือมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความปลอดภัย

คู่มือการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยและแนวทางปฏิบัติตามระดับภัยคุกคามต่อการบินพลเรือน ทอท.

ทอท. ได้จัดทำคู่มือการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยและแนวทางปฏิบัติตามระดับภัยคุกคามต่อการบินพลเรือน ทอท. ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. ใช้เป็นแนวทางในการระบุภัยคุกคาม และประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยระดับสนามบิน (Airport Level) ตลอดจนเป็นแนวทางการกำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากความเสี่ยงให้สอดคล้องเหมาะสมตามระดับภัยคุกคามของแต่ละสนามบินให้เป็นไปตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยแนะนำ โดย ทอท. ได้ทบทวนและแก้ไขปรับปรุงคู่มือฯ ให้มีความทันสมัย ทันต่อสถานการณ์และภัยคุกคามต่อการบินพลเรือนอย่างต่อเนื่อง

มาตรการด้านความปลอดภัยและมาตรการการรักษาความปลอดภัย (Safety and Security Measures)
การกำหนดมาตรการเพื่อนำมาบูรณาการใช้กับการจัดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ต่อการดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานเป็นระบบการจัดการที่ ทอท. ได้มีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นหรือเพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น มาตรการด้านความปลอดภัยการจัดการสัตว์ในท่าอากาศยาน การควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและการตรวจพบวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่ง นอกจากนี้มาตรการที่ถูกปรับมาใช้ยังรวมถึงแผนต่างๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการจัดการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของ ทอท. อีกด้วย

แผนรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน
(Airport Security Plan: ASP)

ท่าอากาศยาน ทั้ง 6 แห่ง ของ ทอท. จัดทําแผนรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานที่สอดคล้องกับแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (National Civil Aviation Security Programme: NCASP) ที่จัดทําโดยสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและมาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) เพื่อเป็นมาตรฐานและแนวทางในการปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานนั้นๆ ซึ่งมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่กําหนดอยู่ในแผนรักษาความปลอดภัยสนามบินของแต่ละท่าอากาศยานเป็นมาตรการเชิงป้องกันและมาตรการเชิงรุก โดยมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

แผนเผชิญเหตุท่าอากาศยาน
(Airport Contingency Plan: ACP)

แผนเผชิญเหตุท่าอากาศยาน (Airport Contingency Plan: ACP) ท่าอากาศยาน ทั้ง 6 แห่ง ของ ทอท. จัดทําแผนเผชิญเหตุท่าอากาศยาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งวางขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตลอดจนวิธีการประสานงานระหว่างผู้ดําเนินงานสนามบิน ผู้ดําเนินการเดินอากาศ ผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ ผู้มีอํานาจในการรักษาความสงบภายในท้องที่ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการตอบสนองต่อการกระทําอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อการบินพลเรือน (Response to Acts of Unlawful Interference) ทั้งนี้ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (National Civil Aviation Security Programme: NCASP) มาตรฐาน กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นแนวทางในการตอบสนองต่อการกระทําอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน (e-Security)

การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน (e-Security) ทอท. ได้พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน (e-Security) ในการจัดเก็บข้อมูลประวัติบุคคล การปฏิบัติการด้านการรักษาความปลอดภัยเชิงป้องกัน การออกบัตรอนุญาตบุคคล การจัดเก็บสถิติ การควบคุมคุณภาพการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัย และหลักสูตรฝึกอบรมด้านการรักษาความปลอดภัย โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานที่รัดกุมและปลอดภัย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่พนักงาน ทอท. และมุ่งเน้นให้เกิดการรักษาความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้บริการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ภายในท่าอากาศยาน ระบบได้รับการพัฒนาต่อยอดและแก้ไขปัญหาจากกระบวนการทำงานของระบบเดิม และพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัย โดยผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลทางผ่านเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) หรือโมบายแอปพลิเคชัน (Native Mobile Application) ได้โดยสะดวก อีกทั้ง ยังมีการปรับปรุงข้อมูลประวัติบุคคลและข้อมูลผู้กระทำความผิด และประวัติยานพาหนะที่เข้ามาในพื้นที่ของ ทอท. รองรับการใช้งานทั้งในรูปแบบรวมศูนย์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของทุกท่าอากาศยาน และในรูปแบบแยกตามแต่ละท่าอากาศยาน ซึ่งจะมีระบบพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้งาน (Authentication) เป็นรายบุคคล โดยผู้ใช้งานแต่ละคนจะมีชื่อผู้ใช้งาน (User name) และรหัสผ่านส่วนบุคคล (Password) ที่สามารถเข้าใช้งานระบบได้ตามสิทธิที่ได้รับเท่านั้น ทำให้สามารถตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วนทั้งภายในระบบและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอก ส่งผลให้ท่าอากาศยานของ ทอท. มีความปลอดภัยและได้รับความไว้วางใจจากผู้โดยสารหรือสายการบินที่มาใช้บริการมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ทอท. ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร โดยได้นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยการสแกนใบหน้าเพื่อระบุตัวตนของผู้โดยสารตั้งแต่ขั้นตอนเช็กอินจนถึงการขึ้นเครื่อง ซึ่งช่วยให้บริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. มีความรวดเร็วและลดระยะเวลาในการรอคิวโดยระบบดังกล่าวเริ่มใช้งานสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 และสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 และมีการใช้งานระบบควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่หวงห้าม (Access Control System - ACS) เพื่อคัดกรองและตรวจสอบบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสารและผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน

การวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย

การวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย เป็นกระบวนการที่อาศัยหลักการระบุปัจจัยอันตรายและการประเมินความเสี่ยง โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น การรายงานเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยภาคบังคับของ ทอท. เพื่อพิจารณาหาเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย และ Contributing Factor ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางวิ่งตาม Specific Operational Objectives: OPR ที่กำหนดไว้ตาม Thailand Aviation Safety Action Plan: TASAP และวัตถุประสงค์เฉพาะด้านความปลอดภัยของ ทอท. จำนวน 4 เหตุการณ์ ได้แก่

    1. การควบคุมอากาศยานเข้าสู่ภูมิประเทศ
    2. อากาศยานออกนอกทางวิ่ง
    3. การรุกล้ำทางวิ่ง
    4. อากาศยานชนนก

ประกอบกับความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ ผู้ดำเนินการเดินอากาศ และสนามบิน

วิธีการระบุปัจจัยอันตรายในแนวทางการจัดทำ Runway Safety Programme นี้ ใช้วิธี Ultimate Consequence Approach ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการระบุปัจจัยอันตรายและเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย โดยเริ่มวิเคราะห์จากผลลัพธ์สุดท้าย จากนั้นจึงวิเคราะห์หาเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยและปัจจัยอันตรายที่อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะถูกจัดเป็น Contributing Factor ของเหตุการณ์นั้นๆ โดยได้มีการแบ่ง Contributing Factor ออกเป็นกลุ่มตาม ICAO CICTT Aviation Occurrence Categories เพื่อความสะดวกในการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางวิ่ง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
Runway Safety Programme

การทบทวนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย (Management Review)
ทอท. การทบทวนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและมาตรการการรักษาความปลอดภัย กำหนดหรือทบทวนนโยบาย แนวปฏิบัติกระบวนการจัดการเพิ่มเติมในด้านการรักษาความปลอดภัยภายในท่าอากาศยานทุกๆ 3 เดือน เพื่อพูดคุยหารือถึงประเด็นการบริหารจัดการต่างๆ ที่เป็นวาระในการประชุมด้านความปลอดภัยและมาตรการการรักษาความปลอดภัย

การประเมินผลการจัดการ (Audit)
กลไกที่ ทอท. และรัฐใช้ในการกํากับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของท่าอากาศยานให้เป็นไปตามข้อกําหนดของรัฐและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อประกันความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการคือการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทั้งในด้านกายภาพและการปฏิบัติงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • ระดับสนามบิน (Self-Audit) ส่วนงานมาตรฐานท่าอากาศยานของแต่ละท่าอากาศยานดําเนินการตรวจสอบด้านมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสนามบิน
  • ระดับองค์กร (Internal Audit) ฝ่ายมาตรฐานและความปลอดภัยท่าอากาศยาน ทอท. จะตรวจสอบภายในด้านมาตรฐานความปลอดภัยของทุกสนามบินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และกํากับดูแลด้านความปลอดภัยของสนามบิน ทอท. ในภาพรวม รวมทั้งดําเนินการติดตามรายงานสถิติความไม่ปลอดภัย กําหนดระดับของความเสี่ยง (Level of Risk) และหาแนวทางในการลด/ควบคุมระดับความเสี่ยงดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในทางปฏิบัติ (As Low As Reasonable Practicable – ALARP) โดยผ่านคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยท่าอากาศยานของ ทอท. ซึ่งทําให้เชื่อมั่นได้ว่าข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยจะได้รับการแก้ไข อีกทั้งการดําเนินงานด้านความปลอดภัย (Safety Performance) จะเป็นไปตามตัวชี้วัด (Safety Indicator) และเป้าหมายด้านความปลอดภัย (Safety Target) ที่ ทอท. กําหนดไว้
  • ระดับรัฐ (State Audit) สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สังกัดกระทรวงคมนาคมทําหน้าที่ในการตรวจสอบและกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของสนามบินในความรับผิดชอบของ ทอท. เป็นประจําทุกปี รวมถึงพิจารณาให้ความเห็นและข้อแนะนําแก่ ทอท. ในด้านความปลอดภัยอีกด้วย ทั้งนี้รัฐเองก็ได้รับการตรวจสอบจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ในการตรวจสอบติดตามการดําเนินการภายใต้โครงการตรวจสอบการกํากับดูแลด้านความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program: USOAP)

แผนควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน ทอท. (Aviation Security Quality Control Programme)

ทอท. จัดทำแผนควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัยด้านการบินขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. โดยกำหนดให้มีกิจกรรมควบคุมคุณภาพ ประกอบด้วยการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยทั้งระบบ (Security Audit) การตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยเฉพาะด้าน (Security Inspection) การทดสอบการรักษาความปลอดภัย (Security Test) การสำรวจการรักษาความปลอดภัย (Security Survey) โดยได้นำหลักการและแนวทางการตรวจสอบมาจากแผนควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยภายใน (Internal Auditor) ของ ทอท. เป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรตามมาตรฐานสากล

วัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย (Safety and Security Culture)
ทอท. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการจัดการที่ทันสมัย โดยการจัดหลักสูตรการอบรมทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติด้านความปลอดภัย รวมทั้งดำเนินการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินของสนามบิน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย (Safety and Security Culture) อย่างสม่ำเสมอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • การสร้างความรู้ความเข้าใจขั้นตอนด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย รวมถึงกรอบการดำเนินงาน คู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
  • สร้างความตระหนักแก่บุคลากรเพื่อการป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในท่าอากาศยาน รวมถึงการรายงานความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นและก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ
  • พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านความปลอดภัยของสนามบิน (e-Safety) และด้านการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน (e-Security) เพื่อนำมาปรับใช้ร่วมกับการปฏิบัติการและการจัดการด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย
  • การใช้ข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการ วิเคราะห์และบริหารจัดการข้อมูล เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของ ทอท. อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ของ ทอท. รวมถึงการนำบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมามาปรับใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงในการดำเนินงาน

การดำเนินงาน

ตามเป้าหมายอุบัติเหตุของผู้ใช้บริการและทุกภาคส่วนเป็น 0 ภายในทั้ง 6 ท่าอากาศยาน พบว่า ในปี 2567 ทอท. มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

4 Rows 3 Columns Table
ดัชนีชี้วัด ผลการดำเนินงานในปี 2567 เป้าหมาย 2567
อัตราและความรุนแรงของเหตุการณ์อากาศยานออกนอกทางวิ่ง (Runway Excursion: RE) 3 0
อัตราและความรุนแรงของเหตุการณ์รุกล้ำทางวิ่ง (Runway Incursion: RI) 7 0
อัตราการเกิดอากาศยานชนนก (Bird Strike) ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 24 0
จำนวนอุบัติเหตุบนทางวิ่ง (Zero Accident) (ครั้ง) 0 0

การส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย

ทอท. มีโครงสร้างการดําเนินงานด้านความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น คณะกรรมการด้านความปลอดภัยระดับองค์กรและระดับท่าอากาศยานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกท่าอากาศยาน โดยจัดให้มีการประชุมหารือตามวงรอบที่กำหนด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ระบุความเสี่ยง ประเมินและจัดทำมาตราการลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยร่วมกันโดยการถ่ายทอด สื่อสาร ให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัย โดยในปีงบประมาณ 2567 ได้จัดโครงการรณรงค์ด้านความปลอดภัยในเขตการบิน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (Safety Campaign) โดยมีผู้บริหารและส่วนงาน ทดม. ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนฝ่ายการแพทย์ ผู้แทนสายการบิน และผู้ประกอบการที่ปฏิบัติงานในเขตการบิน ทดม. จัดขึ้นระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2567 โดยแบ่งเป็นกิจกรรมต่างๆดังนี้ กิจกรรม Big Cleaning Day กิจกรรมรายงานสภาพความไม่ปลอดภัยในเขตการบินกิจกรรมอบรมการปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในเขตการบิน กิจกรรมรณรงค์การเก็บวัตถุแปลกปลอมหรือสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในเขตการบิน (Foreign Object Debris: FOD) และกิจกรรมรณรงค์การขับขี่ปลอดภัยในเขตการบิน เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในเขตการบิน เพื่อลด/ควบคุมค่าดัชนีตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และลดโอกาสการเกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงานและประเทศ

การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุ

ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบทุกแห่งของ ทอท. ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุของสนามบิน (Airport Contingency Plan) ตามข้อกำหนดของภาครัฐและสอดคล้องกับมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) รวมทั้งจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนฯ ในระยะเวลาที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง โดยการฝึกซ้อมในแต่ละครั้งจะนำข้อมูลภัยคุกคาม ณ ช่วงเวลานั้น ๆ มาพิจารณากำหนดสถานการณ์สมมุติ เพื่อเลือกภัยคุกคามที่มีความเสี่ยงสูงในการฝึกซ้อม เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือ ควบคุม สั่งการ และคืนสภาพการปฏิบัติงานให้กลับคืนสู่ปกติได้อย่างรวดเร็ว และคงความต่อเนื่องทางธุรกิจได้

ทบทวนล่าสุด ณ วันที่ 21 มีนาคม 2568